สวัสดีทุกคน
ในฐานะสายลับกาลเวลา คุณกับทีมของคุณจะถูกส่งไปยังโลกหรือความเป็นจริงอื่น ๆ เข้าไปอยู่ในร่างกายของสิ่งมีชีวิตอื่น (หรือ “ตัวรับ”) และคุณจะต้องควบคุมตัวรับเหล่านี้เพื่อบรรลุภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
จงสื่อสารและร่วมมือเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคที่ขวางหน้า
จงสังเกตภาพเบื้องหน้าบนกระดานก่อนจะลงมือทำอะไร จงทำภารกิจให้เสร็จสิ้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะที่จำไว้ด้วยว่าคุณจะพยายามดำเนินภารกิจกี่ครั้งก็ได้ตามความจำเป็น
เราสามารถส่งสภาวะจิตของคุณเข้าไปในตัวรับผ่านการแทรกสอดด้วยแทคิออน แต่มันใช้เงินของหน่วยงานไม่น้อยเลย ดังนั้น อย่าทำให้เราผิดหวัง
ผู้ผลิต: Space Cowboys
ผู้ออกแบบ: Peggy Chassenet, Manuel Rozoy
จำนวนผู้เล่น: 2-4 คน
ระยะเวลาเล่น: 90 นาที
อายุ: 12+
คอนเซปต์เกม
เกมแนวร่วมมือสำหรับเล่น 2-4 คนนี้ผลิตโดยผู้ผลิตจากฝรั่งเศสที่ชื่อว่า Space Cowboys ออกมาครั้งแรกฉบับภาษาฝรั่งเศสเมื่อปี 2015 และถูกเสนอชื่อรางวัล Kennerspiel des Jahres ประจำปี 2016
ผู้ผลิตระบุว่าเกมนี้เป็นเกมแนว “บรรยาย (narrative)” โดยผู้เล่นจะได้รู้เรื่องราวไปพร้อมกัน ๆ และเรียกกลไกของเกมนี้ว่าเป็น “Decksploration” (Deck + Exploration) หรือการ “สำรวจชุดไพ่”

อุปกรณ์ต่างๆภายในเกม ขอบคุณรูปจาก http://www.spacecowboys.fr/time-stories
ในเกมนี้ผู้เล่นจะรับบทบาทเป็นสายลับกาลเวลา ได้รับมอบหมายให้ส่งสภาวะจิตเข้าไปใน “ตัวรับ” ในอดีต ในโลกอื่น หรือแม้กระทั่งในความเป็นจริงอื่น เพื่อหยุดยั้งเหตุการณ์ที่จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อโลก เมื่อถูกส่งสภาวะจิตเข้าไปในตัวรับแล้ว ก็จะมีสภาพร่างกายหรือสภาพจิตตามตัวรับ นั่นก็คือ เมื่อผู้เล่นเลือกว่าจะเข้าไปอยู่ในตัวละครใด แต่ละก็คนก็จะมีความสามารถต่าง ๆ กันไป อย่างไรก็ตามแต่ละรอบที่ส่งเข้าไปในโลกอื่นนั้นจะมีเวลาจำกัด ถ้าไม่เสร็จภายในเวลาภารกิจจะล้มเหลว และต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่แรกแต่ว่าผู้เล่นจะมีความรู้เกี่ยวกับโลกนั้นแล้ว ทำให้สามารถทำภารกิจได้รวดเร็วมากขึ้น
เนื้อเรื่องแรกของเกมนี้ที่มาพร้อมกับเกมหลักคือ Asylum ย้อนเวลากลับไปยังโรงพยาบาลโรคจิตในฝรั่งเศสยุคทศวรรษที่ 1920 เพื่อหยุดยั้งการทำพิธีเรียกปีศาจขึ้นมาทำลายโลก
อธิบายส่วนต่างๆของกระดาน

ส่วนต่างๆภายในเกม
Plan Cards – แผนที่ แสดงชื่อสถานที่ที่เราสามารถไปสำรวจได้
Codex Cards – ช่องสำหรับวางการ์ดพิเศษ ตอนเริ่มเล่นอาจจะมีไพ่บอกเราว่าให้วางอะไรไว้ช่องไหน (ไม่ใช้ใน Asylum)
Item Cards – วางไพ่ไอเทมทั้งหมด
Successful / Failed Mission Cards – วางการ์ดภารกิจสำเร็จ/ล้มเหลว เราจะเปิดไพ่นี้ดูเมื่อเราทำภารกิจสำเร็จ หรือล้มเหลวจากหลายปัจจัย เช่น เวลาหมด เกิดเหตุการณ์พิเศษ
Time Unit (TU) Track – ช่องสำหรับบอกเวลาที่เหลือในรอบนั้น หน่วยของเวลาในเกมนี้คือ Time Unit
State Token Track – ช่องสำหรับวาง State token ที่เราจะได้รับมาระหว่างเล่น ตัว State token พวกนี้จะส่งผลในอนาคต อาจทำให้เกิดเหตุการณ์พิเศษ หรืออาจทำให้เราสามารถสำรวจสถานที่ที่เคยถูกปิดได้
Scenario Deck – ช่องสำหรับวางสำรับไพ่สถานที่ทั้งหมด
Location Card Spaces – ช่องสำหรับวางไพ่สถานที่ที่เรากำลังทำการสำรวจ
Agent Pawn Placement – ช่องสำหรับวางหมากของผู้เล่น เพื่อระบุว่าต้องการสำรวจไพ่ใบไหน
วิธีเล่นคร่าว ๆ
แต่ละรอบของภารกิจผู้เล่นจะต้องส่งสภาวะจิตไปยังตัวรับ โดยจะได้เลือกว่าจะส่งไปยังตัวละครใด เมื่อถูกส่งไปแล้วก็จะมีเวลาจำกัดในแต่ละรอบ โดยนับเป็นหน่วยเวลาหรือ Time Unit (TU)
เมื่อเริ่มเกม ผู้เล่นแต่ละคนจะถูกส่งไปยังสถานที่แรกที่กำหนดในแต่ละเนื้อเรื่อง แล้วเกมจะดำเนินสลับกันไปเรื่อย ๆ ในสองเฟสจนกว่า TU จะหมด
1. เปิดสถานที่และสำรวจ

a. เตรียมพื้นที่
a. ผู้เล่นวางชุดไพ่สำหรับสถานที่นั้นบนกระดานคว่ำหน้าลง (แสดงด้านที่ไม่มีคำอธิบาย)

b. เปิดไพ่ A แล้วอ่านคำบรรยายสถานที่
b. เปิดไพ่ A ในของ Location Cards ชุดบริเวณที่เราสำรวจอยู่ แล้วอ่านคำบรรยายสถานที่พร้อมกัน

c. เปิดสถานที่และสำรวจ
c. สำรวจสถานที่ โดยผู้เล่นแต่ละคนเลือกที่จะเข้าไปสำรวจในจุดหนึ่งของสถานที่นั้น ทั้งนี้บางจุดจะถูกปิดเอาไว้และสามารถเข้าไปได้เมื่อตรงตามเงื่อนไขบางอย่างที่ระบุเอาไว้

d. หยิบไพ่ขึ้นมาอ่าน
d. ผู้เล่นทุกคนหยิบไพ่จุดที่ตัวเองสำรวจ (Location Cards) ขึ้นมาอ่านในใจพร้อมกัน แต่ละคนสรุปและเล่าให้คนอื่นฟังว่าไปเห็นอะไรมาบ้าง โดยไม่ให้เปิดการ์ดออกมา และไม่ให้อ่านโดยตรง ในการสำรวจผู้เล่นอาจจะได้รับไอเท็มสิ่งของ (item) ได้รับโทเค็นสถานะ (State token) ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องใช้ในการเข้าไปสำรวจบางจุด อาจจะต้องทำแอ็กชั่นบางอย่าง เช่นต่อสู้หรือพูดจาโน้มน้าว เพื่อให้ได้รับของอย่างอื่น โอกาสสำเร็จขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เล่นที่สำรวจในจุดนั้น
e. เมื่อผู้เล่นทุกคนสำรวจเสร็จแล้วเกมจะดำเนินไปยังเฟสต่อไป
2. การเปลี่ยนสถานที่

2. เปลี่ยนสถานที่สำรวจ
สามารถเปลี่ยนสถานที่ได้ 2 แบบคือ
- เปลี่ยนจุดสำรวจภายในสถานที่เดิม เสีย 1 TU
- เปลี่ยนไปยังสถานที่อื่น ต้องทอยลูกเต๋า Time Captain แล้วเสีย TU ตามผลลัพธ์บนหน้าลูกเต๋า ทั้งนี้ผู้เล่นทุกคนจะต้องอยู่ในสถานที่เดียวกันเสมอ
วิเคราะห์
ผมรู้สึกว่าเกมนี้เหมือนกับเกมแนว Escape Room ผสมกับหนังสือแนว Gamebook ที่ผมเคยเล่นตอนเด็ก ๆ หนังสือแนวนี้จะบรรยายฉากแล้วให้ผู้อ่านได้เลือกว่าตนเองจะทำอย่างไรในฐานะนักผจญภัย แล้วเปิดไปอ่านเนื้อเรื่องต่อตามหน้าที่ระบุเอาไว้ ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นคอนเซปต์พื้นฐานของเกมนี้เลย เมื่อเล่นจบแล้วทำให้รู้สึกเหมือนได้อ่านเรื่องสั้นจบหนึ่งเรื่อง แต่ประเด็นนี้เองก็เท่ากับว่าผู้เล่นที่เล่นเกมนี้จบไปแล้ว ไม่สามารถกลับมาเล่นซ้ำในเนื้อเรื่องเดิมได้อีก

ตัวอย่างไพ่ไอเทม บางทีก็มีจดหมายหรือมีเรื่องราวให้อ่านด้วย
นอกจากนั้นเกมนี้ยังมีความซับซ้อนกว่า Gamebook อยู่มาก ตั้งแต่การร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปริศนา ซึ่งเป็นลักษณะของเกมแนว Escape Room อีกทั้งยังมีเรื่องดวงเข้ามาเกี่ยวข้องจากการใช้ลูกเต๋าเพื่อทำแอ็กชั่น อย่างไรก็ตาม เกมนี้อนุญาตให้ผู้เล่นเล่นได้หลายรอบจนกว่าจะจบ เพราะเมื่อผู้เล่นเล่นไปได้รอบหนึ่งแล้วถึงแม้จะไม่ผ่าน ก็จะมีข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อเรื่องนั้นพอสมควร ทำไห้ถ้าหยุดแล้วไปเล่นกับผู้เล่นคนอื่นที่ไม่เคยเล่นมาก่อน อาจจะทำให้ทั้งสองฝ่ายเล่นไม่สนุกก็ได้ ประเด็นที่ว่านี้ทำให้เกมยาวเพราะเมื่อเล่นครั้งหนึ่งแล้วควรจะเล่นให้จบไปเลย ซึ่งอาจจะเท่ากับเล่น 3-4 รอบ ใช้เวลาหลายชั่วโมง แล้วแต่ว่าสามารถไขปริศนาได้รวดเร็วแค่ไหน
อย่างไรก็ตามการแก้ไขปัญหาได้ก็ไม่ได้นำไปสู่เป้าหมายเสมอไป เพราะบางเนื้อเรื่องเมื่อเราไขปริศนาหรือผ่านอุปสรรคไปได้ก็ยังจะเจอกับทางตันอยู่ดี ซึ่งอาจจะทำให้ผู้เล่นบางคนหงุดหงิด แต่ผมคิดว่ามันเป็นสีสันที่น่าสนใจของเกมนี้

ไพ่ตัวละครทั้งหมดใน Asylum ดูแล้วหลอนเข้ากับธีมมาก
จุดที่ผมไม่ค่อยประทับใจคือ เกมนี้โฆษณาว่าเป็นการผสมผสานระหว่าง Board Game กับ Tabletop RPG หรือเกมแนวสวมบทบาท เช่นเกมอย่าง Dungeons & Dragons หรือ Shadowrun แต่หลังจากที่เล่นแล้วรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้อง “เล่น” หรือ “แสดง” บทบาทตามตัวรับเลย บทบาทหรือบุคลิกรวมอยู่ในสถานะของตัวละครหรือความสามารถพิเศษแล้ว อย่างไรก็ตามบทบาทที่เราเล่นจริง ๆ คือเป็นสายลับ ซึ่งมีหน้าที่สืบหาหนทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังนั้นผู้เล่นจึงไม่ต้องสวมบทบาทเป็นตัวรับ เล่นเป็นตัวเองแล้วเน้นที่การไขปริศนาก็พอ
อย่างไรก็ตามเกมนี้มีความคล้ายคลึงกับเกมแนว RPG คือผู้เล่นสามารถสร้างเนื้อเรื่องขึ้นมาเองในระบบได้ ภาคเสริมทั้งหมดเป็นเพียงแค่เนื้อเรื่องเพิ่มเติม ซึ่งก็คือชุดการ์ดชุดใหม่ สายลับสามารถย้อนเวลาหรือข้ามมิติไปปฏิบัติภารกิจอื่นได้อีกมากมาย ดังนั้นผู้ที่สนใจหรือคิดเนื้อเรื่องที่น่าสนใจออกก็สามารถสร้างชุดการ์ดขึ้นมาให้เพื่อน ๆ เล่นกันได้ ไม่ต่างไปจากการสร้างเนื้อเรื่องในเกมแนว RPG บนระบบต่าง ๆ เช่น d20 หรือ d6 เหมือนกับการทำหน้าที่เป็น Game Master ในเกมเหล่านั้น นอกจากนั้น Space Cowboys ทีมผู้ผลิตเกมนี้ยังเผยแพร่หนังสือกฎพิเศษและไฟล์รูปต่าง ๆ สำหรับผู้ที่อยากออกแบบเนื้อเรื่องอีกด้วย ทำให้ตอนนี้มีเนื้อเรื่องที่ผู้เล่นสร้างกันขึ้นมาเองเผยแพร่ออกทั่วไปจำนวนมากมายหลายสิบเนื้อเรื่องแล้ว
ประสบการณ์ส่วนตัว
ประสบการณ์ส่วนตัวของผมในการเล่นเกมนี้อาจจะแปลกสักหน่อย พวกเราเล่นกันเป็นภาษาอังกฤษบนชุดไพ่และเกมฉบับภาษาฝรั่งเศส (ภาษาต้นฉบับของเกมนี้) โดยมีเพื่อนชาวฝรั่งเศสอีกคนหนึ่งเป็นผู้อธิบายกฎและดำเนินเรื่องแปลข้อความทั้งหมดให้เราเพราะว่าเขาเคยเล่นแล้ว นอกจากนั้นเราเล่นกัน 5 คน (ไม่นับคนดำเนินเรื่อง) มากกว่าจำนวนผู้เล่นที่ผู้ผลิตแนะนำ ซึ่งคือ 2-4 คน เล่นเนื้อเรื่องแรก ซึ่งก็คือ Asylum ที่ผู้เล่นจะได้เข้าไปอยู่ในร่างของผู้ป่วยในโรงพยาบาลโรคจิตเพื่อป้องกันรอยเลื่อนกาลเวลา

ตัวอย่าง Location Card (ด้านหลัง) ซึ่งจะบอกเรื่องราวต่างๆในสถานที่ที่เราไปสำรวจ
เนื่องจากผู้เล่นจริง ๆ ไม่มีใครอ่านภาษาฝรั่งเศสออก คนดำเนินเรื่องจึงแปลและเล่าเนื้อเรื่องทั้งหมดให้ทุกคนฟังไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะต่างไปจากกฎการอ่านไพ่จุดที่ตัวเองสำรวจ เพราะทุกคนรู้สิ่งที่เขียนไว้ทั้งหมด ไม่ใช่การสรุปจากผู้เล่นคนอื่น นอกจากนั้นจำนวนผู้เล่น 5 คนก็ยังทำให้เกมง่ายกว่าปกติ เพราะเมื่อเข้าไปสำรวจในแต่ละพื้นที่สามารถสำรวจได้ครบและจะมีจุดที่ผู้เล่นอยู่มากกว่า 1 คนเสมอ เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตขึ้นมาก
สิ่งที่ผมประทับใจคือถ้ามีคนดำเนินเรื่องให้ก็สามารถเล่นได้ถึงแม้กับชุดภาษาที่เราไม่เข้าใจ อย่างไรก็ตามคนที่ดำเนินเรื่องจำเป็นจะต้องเคยเล่นและเข้าใจเนื้อเรื่องดี สามารถหาทางอธิบายบางจุดที่ต้องเข้าใจภาษาให้ผู้เล่นคนอื่นได้อย่างดี โดยไม่เผยความลับหรือทำให้เกมง่ายเกินไป
จุดที่ชอบ
- เป็นการผสมผสานระหว่าง Gamebook และ Escape Room ทำให้ได้ใช้ความคิดแก้ปริศนาร่วมมือกันกับเพื่อน ๆ
- การแก้ปริศนาได้สำเร็จอาจจะนำไปสู่ทางตัน ไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ชัยชนะเสมอไป ทำให้เกมมีสีสัน เพิ่มการพูดคุยในกลุ่มผู้เล่น
- เป็นมากกว่าเกม เพราะว่าเป็นระบบเกมทำให้ผู้ที่สนใจสามารถสร้างเนื้อเรื่องขึ้นมาเองบนระบบนี้ได้
จุดที่ไม่ชอบ
- เล่นได้ครั้งเดียวต่อหนึ่งเนื้อเรื่อง
- เกมยาวหลายชั่วโมงถ้าผู้เล่นหาหนทางแก้ปริศนาไม่พบ
- ความเป็นเกม RPG หรือบทบาทสมมติมีน้อยกว่าที่โฆษณาเอาไว้

ภาพกล่องภาคเสริม
ภาคเสริม
เกมนี้ออกภาคเสริมมาทั้งหมด 5 ภาค และมีแผนจะออกภาคเสริมเพิ่มอีก 2 ภาคในปี 2017 นี้ด้วย เนื้อเรื่องและภารกิจของเรามีดังนี้
The Marcy Case – ตามหาเด็กหญิงที่หายตัวไปในรัฐวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 1992
A Prophecy of Dragons – หาต้นเหตุที่ทำให้เกิดรอยเลื่อนทางเวลา ในยุคกลางของโลกคู่ขนานที่เปี่ยมไปด้วยพลังเวทย์มนต์
Under the Mask – ไขคดีในยุคอียิปต์โบราณ โดยมีอุปกรณ์พิเศษที่ทำให้เราเปลี่ยน “ตัวรับ” ระหว่างเล่นได้
Expedition: Endurance – สืบหาต้อตอที่ทำให้การสำรวจทวีปแอนตาร์กติกาของลูกเรือ Endurance ล้มเหลว
Lumen Fidei – ย้อนเวลาไปยุคกลาง ประเทศสเปน เพื่อตามหาก้อนหินพิเศษที่ก่อให้เกิดพลังเหนือธรรมชาติ และนำกลับไปยังสำนักงาน T.I.M.E.
ใครเคยเล่นเเล้ว หรือ เล่นภาคเสริมไหนมาเเล้วบ้างมาคุยกันได้ที่เพจเลยนะครับ