เมือง Carcassonne ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงจากปราการอันไม่เหมือนใครจากยุคโรมันและยุคแห่งอัศวิน ผู้เล่นพัฒนาเมืองด้วยการวางตัวผู้ติดตามลงบนถนนหรือในเมือง หรือในโบสถ์หรือบนทุ่งหญ้ารอบ Carcassonne ภูมิทัศน์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรล้วนอยู่ในเมืองของคุณ และการเลือกส่งผู้ติดตามไปเป็นโจรปล้นถนน เป็นอัศวิน เป็นพระ หรือเป็นชาวนา จะกำหนดว่าใครเป็นผู้ชนะ
เกม Carcassonne โดย Klaus-Jürgen Wrede จัดจำหน่ายโดย Hans im Glück เป็นเกมที่เล่นง่ายแต่มีความหลากหลาย อีกทั้งยังชนะรางวัล Spiel des Jahres ประจำปี 2001 อีกด้วย ผ่านมาแล้วถึง 16 ปีแต่เกมนี้ก็ยังติดใจผู้เล่นมากมายโดยถือกันว่าเป็น “เกมสามัญประจำบ้าน” เกมหนึ่งเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้นแล้วเกมนี้ยังมีภาคเสริมออกมามากมายเพิ่มความแปลกใหม่และตื่นเต้นให้กับเกมเป็นอย่างมาก วันนี้ผมจะมาอธิบายวิธีการเล่นพื้นฐานและรีวิวเกมนี้กันครับ
ผู้ผลิต: Hans im Glück
ผู้ออกแบบ: Klaus-Jürgen Wrede
จำนวนผู้เล่น: 2-5 คน
ระยะเวลาเล่น: 30-45 นาที
อายุ: 8+
กฎการเล่นพื้นฐาน
(แหล่งอ้างอิง: ภาษาเยอรมัน, ภาษาอังกฤษ)
อุปกรณ์สำหรับเกมนี้ประกอบด้วย
- แผ่นไทล์รูปต่าง ๆ 72 แผ่น
- ตัวหมากที่เรียกว่า meeple 5 สี รวม 40 ตัว
- แผ่นกระดานนับแต้ม

อุปกรณ์การเล่น
ตอนเริ่มเกมให้เตรียมตัวต่อไปนี้
- ผู้เล่นแต่ละคนรับตัว meeple ตามสีของตน คนละ 8 ตัว
- ผู้เล่นแต่ละคนนำตัวหนึ่งไปวางบนจุดเริ่มต้นบนแผ่นนับแต้ม เหลือเอาไว้ 7 ตัวสำหรับเล่นจริง
- คว่ำหน้าแผ่นไทล์ทั้งหมดให้เป็นหน้าสีเทา
- จะมีแผ่นหนึ่งหน้าสีเทาเข้มกว่าแผ่นอื่น ๆ ให้หงายแผ่นนี้ขึ้น โดยแผ่นนี้เป็นแผ่นเริ่มต้น

เตรียมตัวตอนเริ่มเกม
เป้าหมายของเกมนี้คือได้คะแนนมากกว่าผู้เล่นคนอื่น ๆ ในแต่ละตาผู้เล่นแต่ละคนจะดำเนินการดังต่อไปนี้
- ผู้เล่นต้องสุ่มหยิบแผ่นไทล์ที่คว่ำอยู่ 1 แผ่นแล้ววางต่อกับแผ่นอื่นที่วางอยู่แล้ว
- ผู้เล่นสามารถวาง meeple 1 ตัวบนแผ่นไทล์ที่เพิ่งวางลงไป
- ถ้าแผ่นที่เพิ่งวางลงไปทำให้ถนน เมือง หรือโบสถ์สมบูรณ์ ให้คิดคะแนนในตานั้น
แล้ววนต่อไปยังผู้เล่นคนต่อไป
เงื่อนไขการวางแผ่นไทล์
ผู้เล่นต้องวางแผ่นไทล์ให้ด้านอย่างน้อยด้านหนึ่งติดกับแผ่นที่วางอยู่แล้ว โดยต้องวางให้ถนนและเมืองไม่ขาด

ตัวอย่างการวางแผ่น
เงื่อนไขการวางตัว meeple
แต่ละตาผู้เล่นสามารถวางตัว meeple ได้เพียง 1 ตัวถ้าผู้เล่นคนนั้นยังมีตัวเหลืออยู่ในมือ ผู้เล่นสามารถวางได้เฉพาะบนแผ่นไทล์ที่เพิ่งวางลงไปเท่านั้น โดยเลือกสถานที่วางได้ดังต่อไปนี้
- วางบนถนน เป็น โจรปล้นถนน
- วางในเมือง เป็น อัศวิน
- วางในทุ่งหญ้า เป็น ชาวนา
- วางในโบสถ์ เป็น พระ

พื้นที่และตำแหน่งวาง Meeple
ทั้งนี้ เมื่อวางลงไปแล้วจะไม่สามารถหยิบกลับขึ้นมาหรือเคลื่อนย้ายได้ จนกว่าจะจบเกม หรือถนน เมือง หรือโบสถ์ที่วางอยู่นั้นเสร็จสมบูรณ์
นอกจากนั้นแล้วผู้เล่นไม่สามารถวางตัว meeple ลงในพื้นที่ที่มีตัว meeple ตัวอื่นวางอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นของตนหรือของคนอื่นก็ตาม
การนับคะแนนเมื่อถนน เมือง หรือโบสถ์เสร็จสมบูรณ์
ถนน
ถนนเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อปลายถนนทั้งสองข้างจบลงกับทางแยก เมือง หรือโบสถ์ ผู้เล่นที่มี meeple วางอยู่บนถนนนั้นจะได้รับคะแนน 1 คะแนนต่อแผ่นไทล์ที่ประกอบเป็นถนนนั้น และได้รับตัว meeple กลับขึ้นมือ

การนับคะแนนจากถนน
เมือง
เมืองเสร็จสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเมืองนั้นมีกำแพงเมืองล้อมรอบทั้งหมดทุกด้าน ผู้เล่นที่มี meeple วางอยู่ในเมืองจะได้รับคะแนน 2 คะแนนต่อแผ่นไทล์ที่ประกอบเป็นเมืองนั้น และได้รับตัว meeple กลับขึ้นมือ ทั้งนี้ แผ่นไทล์บางแผ่นจะมีสัญลักษณ์รูปโล่อยู่ในเมือง ให้นับคะแนนแผ่นนั้นเป็น 2 เท่า กล่าวคือแผ่นนี้มีค่า 4 คะแนน

การนับคะแนนจากเมือง
โบสถ์
โบสถ์จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อทั้ง 8 ทิศรอบโบสถ์มีแผ่นไทล์วาง ผู้เล่นที่มี meeple วางอยู่ในโบสถ์จะได้รับคะแนน 9 คะแนนทันที และได้รับตัว meeple กลับขึ้นมือ

การนับคะแนนจากโบสถ์
ทุ่งหญ้า
ทุ่งหญ้าไม่มีการเสร็จสมบูรณ์จนกว่าจะจบเกม ตัว meeple ที่วางอยู่บนทุ่งหญ้าจะอยู่อย่างนั้นไปจนจบ และนับคะแนนทีเดียว
การจบเกม
เกมจะจบลงก็ต่อเมื่อได้วางแผ่นไทล์ทุกใบแล้ว เมื่อเกมจบให้นับคะแนนสำหรับตัว meeple ที่เหลืออยู่ในเกม
ถนน
ผู้เล่นที่มี meeple วางอยู่บนถนนแต่ละเส้นจะได้รับคะแนน 1 คะแนนต่อแผ่นไทล์ที่ประกอบเป็นถนนนั้น
เมือง
ผู้เล่นที่มี meeple วางอยู่ในเมืองจะได้รับคะแนน 1 คะแนนต่อแผ่นไทล์ที่ประกอบเป็นเมืองนั้น ทั้งนี้ แผ่นไทล์ที่มีสัญลักษณ์รูปโล่อยู่ในเมือง ให้นับคะแนนแผ่นนั้นเป็น 2 เท่า กล่าวคือแผ่นนี้มีค่า 2 คะแนน

การนับคะแนนจบเกมจากถนนและเมือง
โบสถ์
ผู้เล่นที่มี meeple วางอยู่ในโบสถ์จะได้รับคะแนนตามจำนวนแผ่นไทล์ในตาราง 3 x 3 ที่มีโบสถ์นั้นเป็นศูนย์กลาง
ทุ่งหญ้า
ผู้เล่นที่มี meeple วางอยู่ในทุ่งหญ้าจะได้รับคะแนน 3 คะแนนต่อเมืองที่เสร็จสมบูรณ์และมีส่วนติดกับทุ่งหญ้านั้น

การนับคะแนนจบเกมจากโบสถ์และทุ่งหญ้า
กฎเพิ่มเติม
ถึงแม้ว่ากฎจะห้ามวางตัว meeple ลงบนพื้นที่ที่มีตัว meeple ตัวอื่นอยู่แล้ว แต่บางครั้งจะมีการวางแผ่นไทล์ที่ทำให้พื้นที่ส่วนที่เคยแยกจากกันมารวมกันได้ ในกรณีเช่นนี้ ผู้เล่นที่มีตัว meeple มากที่สุดทุกคนจะได้รับคะแนนเต็มจำนวนไป เช่น ในเมืองที่จะได้รับคะแนน 20 คะแนน มีตัว meeple ของสีฟ้ากับสีแดงอยู่อย่างละ 1 ตัว ผู้เล่นทั้งสองคนนี้จะได้รับคะแนนไปคนละ 20 คะแนน แต่ถ้าสีฟ้ามี 2 ตัวและสีแดงมี 1 ตัว สีฟ้าเท่านั้นจะได้รับคะแนนไป 20 คะแนน

กรณีนี้ถ้าจบเกม สีเหลืองกับสีแดงได้คนละ 4 คะแนน

กรณีนี้เมื่อต่อเมืองเสร็จ สีเขียวกับสีแดงได้คนละ 8 คะแนน

กรณีนี้เมื่อต่อเมืองเสร็จ สีแดงได้ 14 คะแนน สีเขียวไม่ได้คะแนนเลย
รีวิว
เกม Carcassonne นี้เป็นบอร์ดเกมแรก ๆ ที่ผมเล่นแล้วติดใจมากเพราะความเรียบง่ายและสนุกสนาน เมื่อเทียบกับบอร์ดเกมอื่น ๆ แล้วเกมนี้มีกฎที่เข้าใจได้ง่าย มีข้อยกเว้นน้อย และแทบจะไม่มีช่องโหว่ในกฎให้สับสนหรือเปิดช่องให้ผู้เล่นเถียงกันได้เลย อีกทั้งยังเล่นได้มากสุดถึง 5 คน
จึงนับว่าเป็นปาร์ตี้เกมที่สามารถคิดกลยุทธ์ได้ในระดับหนึ่ง เหมาะกับผู้ที่เริ่มสนใจบอร์ดเกมครับ
ถ้าจำนวนผู้เล่นไม่มากเกินไป ผู้เล่นก็จะสามารถรอโอกาสหยิบแผ่นไทล์ที่ตนเองต้องการ ทำให้สามารถวางแผนได้ เช่นจะต่อถนนนี้ให้ยาวที่สุด หรือต่อเมืองนี้ให้ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์ก่อนจบเกม หรือหาทางต่อทุ่งหญ้านี้ให้ติดกับเมืองของคู่ต่อสู้ให้ได้มากที่สุดเพื่อเอาคะแนนตอนจบเกม นอกจากนั้นแล้วผู้เล่นยังสามารถขัดขวางกันได้อีกด้วย เช่น วางแผ่นไทล์เพื่อไม่ให้คู่แข่งปิดถนนหรือเมืองได้ ทำให้ได้คะแนนน้อยลง อีกทั้งยังเสียตัว meeple ค้างอยู่บนกระดานจนจบเกม หรือแม้กระทั่งพยายามประกอบเมืองหรือทุ่งหญ้าให้ในพื้นที่นั้นมีตัว meeple ของเรามากกว่าของคนอื่น ๆ เพื่อที่จะกันไม่ให้คนอื่น ๆ ได้คะแนน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามถ้าจำนวนผู้เล่นมากเกินไป โอกาสที่เราจะได้แผ่นไทล์ตามที่ต้องการก็จะลดลงอย่างมาก ทำให้สามารถคิดกลยุทธ์เพื่อปิดพื้นที่ที่เราต้องการได้ลำบาก อีกทั้งจะมีจำนวน meeple บนกระดานมากทำให้บางครั้งไม่สามารถวางตัวของเราเองได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเกมเปลี่ยนมาพึ่งดวงอย่างมากก็อาจจะทำให้ผู้เล่นที่ไม่ต้องการจริงจังมากเกินไปรู้สึกสนุกมากขึ้นก็ได้
นอกเหนือจากการเล่นที่เรียบง่ายแต่สนุกแล้ว เกมนี้ยังมีจุดเด่นที่ความกะทัดรัดของอุปกรณ์ ถึงแม้ว่ากล่องของเกมนี้จะใหญ่ แต่อุปกรณ์ที่จำเป็นจริง ๆ นั้นไม่ได้กินพื้นที่มาก สิ่งที่ทำให้กล่องมีขนาดใหญ่ก็คือแผ่นนับคะแนน ซึ่งจริง ๆ แล้วถ้ามีสมุดจดหรือโทรศัพท์มือถือก็สามารถนับคะแนนได้โดยไม่ต้องใช้แผ่นนี้ ทำให้สามารถนำอุปกรณ์เหล่านี้พกพาไปเล่นที่อื่นได้อย่างสะดวกมาก เหมาะสำหรับเป็นเกมเวลาไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ หรือครอบครัวแต่ไม่อยากเล่นเกมไพ่ทั่ว ๆ ไปครับ
สิ่งที่ชอบ
- กฎง่ายไม่ซับซ้อน
- อุปกรณ์เล็กกะทัดรัด พกพาสะดวก
- มีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ได้มาก
สิ่งที่ไม่ชอบ
- ถ้าจำนวนผู้เล่นมากเกินไปจะทำให้คิดกลยุทธ์ลำบาก
ติดตามเรื่องราวบอร์ดเกมและเกมต่างๆ
หรือมาพูดคุยกันได้ทุกวันที่ Facebook ของเรา กดไลค์เลย